7 สิทธิประโยชน์ของคนทำงาน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลในอีก 30 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 5 เมษายน 2562)

ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำหรับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562  และจะมีผลในอีก  30 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 5 เมษายน 2562) พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องสิทธิประโยชน์สำคัญของลูกจ้างดังต่อไปนี้

1.หากมีการเปลี่ยนแปลงนายจ้างทำให้ต้องไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง 

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง หรือกรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลแล้วมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบรวมกับนิติบุคคลใด มีผลให้ต้องไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง สำหรับสิทธิต่าง ๆ ของลูกจ้างที่มีอยู่ต่อนายจ้างยังคงสิทธิต่อไปโดยนายจ้างใหม่ต้องรับไป

2.มีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็น โดยนายจ้างจ่ายค่าจ้างตามปกติปีละไม่เกิน 3 วันทำงาน

จากเดิมมาตรา 34 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจําเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน  แต่ไม่มีมีการกำหนดจำนวนวันและการจ่ายค่าจ้างไว้

3.ลูกจ้างหญิงลาคลอดบุตรและลาตรวจครรภ์ก่อนคลอดได้ 98 วัน

ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์สามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ ให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตรได้ไม่เกิน 98 วัน โดยให้นับรวมวันหยุดช่วงลาที่ลาด้วย สำหรับค่าจ้างจะได้รับจากนายจ้างไม่เกิน 45 วัน

4.เพิ่มอัตราค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป โดยได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน

อัตราชดเชยการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด มีดังนี้

  • ทำงานครบ 120 วันแต่ไม่ถึง 1  ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
  • ทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ถึง 3  ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
  • ทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ถึง 6  ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง  180  วัน
  • ทำงานครบ 6 ปีแต่ไม่ถึง 10  ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง  240  วัน
  • ทำงานครบ 10 ปีแต่ไม่ถึง 20  ปี  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง  300  วัน
  • ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป  ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง  400  วัน

5.การย้ายสถานประกอบกิจการใหม่ หากลูกจ้างไม่ต้องการไปทำงานที่ใหม่ตามนายจ้าง สามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยได้รับค่าชดเชยตามสิทธิ

  • นายจ้างต้องปิดประกาศให้ทราบอย่างชัดเจนติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนย้ายสถานประกอบการ หากไม่มีการปิดประกาศต้องจ่ายชดเชยให้กับพนักงานที่ไม่ไปทำงานที่ใหม่เท่ากับค่าจ้าง 30 วัน หรือค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย
  • ลูกจ้างที่ไม่ต้องการไปทำงานที่ใหม่ตามนายจ้าง ต้องแจ้งเป็นหนังสือกับนายจ้างภายใน 30 วันหลังมีประกาศ จึงจะสามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยตามสิทธิ

6.กรณีจ่ายค่าตอบแทนเกินเวลาปกติ  นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ย 15% ต่อปี

หากนายจ้างคืนเงินหลักประกัน จ่ายเงินบอกเลิกสัญญาจ้าง เงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย และตอบแทนต่าง ๆ เกินเวลาปกติ นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดให้กับลูกจ้าง 15% ต่อปี

7.ค่าตอบแทนลูกจ้างชาย-หญิงเท่ากัน

ให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงสำหรับงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน

 

Credit : Business photo created by pressfoto – www.freepik.com